top of page

ไขข้อข้องใจ เกี่ยวกับ "กิเลส"

Writer's picture: Mahavana DhutankaMahavana Dhutanka

Updated: Dec 23, 2022

กิเลส เป็นคำที่หลาย ๆ คนเคยได้ยินกันมาแล้ว

แต่คุณรู้จักคำว่า "กิเลส" ดีพอหรือยัง?




กิเลส


มีรูปวิเคราะห์ว่า กิลิสฺสนฺติ เอเตน สตฺตาติ กิเลโส แปลว่า สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเศร้าหมอง / เดือดร้อน เพราะภาวะนั้น ดังนั้น ภาวะนั้น เรียกว่า "กิเลส"


มีรากศัพท์มาจากคำว่า กิลิสฺ (เดือดร้อน เศร้าหมอง เบียดเบียน) + อ ปัจจัย


ด้วยเหตุนี้ กิเลส จึงหมายถึง เครื่องเศร้าหมอง ความเศร้าหมอง มลทินแห่งใจ


ภาษาอังกฤษใช้คำว่า stain (รอยเปื้อน / มลทินก็ได้), impurity (สิ่งไม่บริสุทธิ์ คือเศร้าหมองก็ได้) หรือ lower or unregenerate nature (ภาวะ หรือ ธรรมชาติที่ต่ำหรือไม่ดี)


สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เขียนว่า...

กิเลส (อ่านว่า กิ -เล-สะ) คำนี้เดิมมีความหมายว่า รอยเปื้อน รอยด่าง มลทิน ความสกปรก เป็นคำยืมมาจากภาษาบาลี


พระพุทธศาสนานำคำนี้มาใช้เป็นคำรวมสำหรับเรียกความรู้สึกหรืออำนาจฝ่ายต่ำของจิตใจซึ่งเป็นแรงผลักดันให้คนทำความชั่วทั้งทางกาย วาจา และใจ


ตามหลักพระพุทธศาสนาอธิบายว่า จิตของคนเป็นเหมือนกระจกใส แต่ส่วนกิเลสเป็นเหมือนสิ่งสกปรกที่แปดเปื้อนจิต รอยเปื้อนทำให้กระจกหมองไปฉันใด กิเลสก็ทำให้จิตของปุถุชนเศร้าหมองฉันนั้น

ดังนั้น จึงมักอธิบายว่า กิเลสเป็นเครื่องที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ซึ่งหมายถึง จิตใจที่มีรอยเปื้อน มีมลทิน มีความสกปรก ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงมีความโลภ ความโกรธ ความหลง


 

กิเลสวัตถุ คือ สิ่งก่อความเศร้าหมอง มี 10 ประการ คือ

  1. โลภะ ความอยากได้

  2. โทสะ ความคิดประทุษร้าย

  3. โมหะ ความหลง ไม่รู้อริยสัจ 4

  4. มานะ ความถือตัว (ดีกว่าเขา เสมอเขา แย่กว่าเขา)

  5. ทิฏฐิ ความเห็นผิด

  6. วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเล เช่นสงสัยในคุณพระรัตนตรัย เป็นต้น

  7. ถีนะ ความหดหู่ ท้อแท้ถดถอย

  8. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน

  9. อหิริกะ ความไม่ละอายต่อการกระทำชั่ว

  10. อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อผลของการกระทำชั่ว


 

กิเลสมาร

กิเลส จัดอยู่ใน 1 ใน 5 ของ "มาร หรือ สิ่งกำจัดขัดขวางบุคคลไม่ให้บรรลุผลสำเร็จอันดีงาม" อีกด้วย


มาร 5

  1. กิเลสมาร มารคือกิเลส กิเลสเป็นมาร เพราะเป็นตัวกำจัดขัดขวางความดี ทำให้ประสบความพินาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต

  2. ขันธมาร มารคือขันธ์ 5 ขันธ์ 5 เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่ง มีความขัดแย้งกันเองอยู่ภายใน ไม่มั่นคงทนนาน แปรปรวนเสื่อมโทรม เช่น เจ็บป่วย เป็นไข้ เป็นต้น ลิดรอนหรือพรากโอกาสให้บุคคลกระทำคุณงามความดีได้อย่างเต็มที่

  3. อภิสังขารมาร มารคือเจตนาที่เป็นตัวปรุงแต่งการกระทำทางกาย วาจา ใจ ให้ปรุงบุญ ปรุงบาป ปรุงบังคับจิตให้ดิ่งนิ่ง เป็นตัวปรุงแต่งการกระทำต่าง ๆ ทำให้วนอยู่ใน กิเลส กรรม (การกระทำ) วิบาก (ผลของการกระทำ) เช่น ทำชั่ว ก็ต้องเป็นผู้รับผลของการกระทำชั่ว เวียนว่ายตายเกิด ไม่ได้หลุดพ้นไปจากสังสารวัฏ

  4. เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร มารคือเทพบุตร เป็นเทพยิ่งใหญ่ระดับสูงสุดแห่งชั้นกามาวจรตนหนึ่ง ชื่อว่า มาร เพราะเป็นนิมิตแห่งความขัดข้อง คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ไม่ให้ล่วงพ้นจากแดนอำนาจครอบงำของตน โดยชักให้ห่วงพะวงในความสุขในกามคุณทั้งหลาย ไม่สามารถเสียสละออกไปบำเพ็ญคุณความดีที่ยิ่งใหญ่ได้

  5. มัจจุมาร มารคือความตาย ความตายเป็นมาร เพราะตัดโอกาสที่จะก้าวหน้าต่อไปในชาตินี้ ในการทำคุณความดีทั้งหลาย


 

เมื่อใดที่จิตเศร้าหมอง รู้ไว้ว่าเมื่อนั้น "กิเลส" ครอบงำจิตแล้ว

แต่เมื่อใดที่รู้ว่า กิเลส ก็เป็นเพียงแขกที่มาเยือนที่จิต หากมีปัญญา เมตตา สติ เป็นต้น มาพักในบ้านของใจไปแล้วล่ะก็ กิเลสก็จะเข้ามาย่ำยีจิตใจให้เศร้าหมองไม่ได้



 

ข้อมูลจาก


#ธุดงคสถานมหาวัน

16 views0 comments

Comentários


#MAHAVANAdhutanka7 #mahavanaDHARMA

#ธุดงคสถานมหาวัน #ธรรมะจากป่าใหญ่

ธุดงคสถานมหาวัน - นิโรธาราม 7

©2022 by mahavanadhutanka.

bottom of page