#ธุดงคสถานมหาวัน #ธรรมะจากป่าใหญ่

ไม่รู้ว่าญาติโยมเป็นเหมือนผู้เขียนหรือไม่
เวลาได้ยินพระให้พระว่า "อายุ วรรณะ สุขะ พละ"
อายุ นี้พอเข้าใจได้ว่า ให้อายุ คือ มีอายุยืน
สุขะ นี้ก็เข้าใจว่า คือ ความสุข
พละ นี้ก็คงเป็น พละกำลัง
แต่วรรณะ นี้สิ
หมายความว่าอย่างไร??? วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ อย่างนั้นหรือ?
วันนี้ ลองมาทำความเข้าใจกับคำเหล่านี้กันค่ะ
"อายุ"
แปลตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ว่า
เวลาที่ดํารงชีวิตอยู่, เวลาชั่วชีวิต, ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง, ระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น อายุใบอนุญาต ยานี้หมดอายุแล้ว, ระยะเวลาที่กําหนดรู้ความยั่งยืนของสิ่งนั้น ๆ เช่น อายุของหิน
มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี คือ อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป)
แปลตามศัพท์ได้ว่า “สิ่งเป็นเหตุดำเนินไปแห่งสัตวโลก”
หมายความว่า สัตวโลกดำเนินไปได้ด้วยสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นหมดลง การดำเนินไปของสัตวโลกก็หยุดลงเพียงนั้น
อายุ จึงหมายถึง ชีวิต, ความสามารถดำรงชีวิต, การกำหนดอายุ, ความมีอายุยืน
ภาษาอังกฤษใช้คำว่า life, longevity
(เขียนถึงตรงนี้ก็นึกไปถึงคำว่า Long Live the King ก็คือ ทรงพระเจริญ แปลเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ให้อายุยืนนาน อายุมั่นขวัญยืน นั่นเองค่ะ)
ดังนั้น เวลาพระท่านให้พรว่า "อายุ" นั่นหมายถึง ให้มีอายุยืน ให้มีความสามารถดำรงชีพ ดำรงธาตุขันธ์อยู่ได้
"วรรณะ"
แปลตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ว่า
- สี เช่น เบญจวรรณ แปลว่า ๕ สี มักใช้เข้าคู่กับคำ สีสัน เป็น สีสันวรรณะ
- ผิว เช่น ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ, มักใช้เข้าคู่กับคำ ผิวพรรณ เป็น ผิวพรรณวรรณะ - ชนชั้น ในสังคมฮินดูแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร - หนังสือ เช่น วรรณกรรม วรรณคดี
มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี คือ วณฺณ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง)
แปลตามศัพท์ได้ว่า “สิ่งเป็นเครื่องประกาศเนื้อความ”
ดังนั้น ก็จะมีความหมายหลายอย่าง อาทิ
(1) สี
(2) รูปร่าง
(3) ความรุ่งโรจน์โชติช่วง, ความแพรวพราว
(4) ความงาม
(5) สีหน้า, ท่าทาง
(6) สีของผิวเนื้อ, รูปร่าง, ผิวพรรณ
เป็นต้น
ดังนั้น เวลาที่พระให้พรว่า วรรณะ มักหมายถึง ผิวพรรณ คือให้มีผิวพรรณวรรณะที่งดงาม สดใส ถ้าเป็นความคิดของคนสมัยนี้ อาจหมายถึง ให้มีออร่าที่ดี ดูผิวพรรณสดใส ไม่หม่นหมองคล้ำด้วยความทุกข์
"สุข"
แปลตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ว่า
ความสบายกายสบายใจ เช่น ขอให้อยู่ดีมีสุข เกิดมาก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง
มักใช้เข้าคู่กับคำ เป็น เช่น ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เป็นสุข ๆ นะ
มีรากศัพท์มาจาก
(1) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขมฺ (ธาตุ = อดทน, อดกลั้น)
แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ทนได้ง่าย”
(2) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขนฺ (ธาตุ = ขุด)
แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ขุดความทุกข์ด้วยดี”
(3) สุ (ดี, งาม, สะดวก) + ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน)
แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เคี้ยวกินความทุกข์ด้วยดี”
(4) สุขฺ (ธาตุ = สุขสบาย) + อ ปัจจัย
แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังบุคคลให้สุขสบาย”
(5) สุ (ง่าย, สะดวก) + ข (โอกาส)
แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ให้โอกาสได้ง่าย”
จะเห็นได้ว่า คำว่าสุข แปลได้หลายอย่างมาก ดังนั้นเวลาพระให้พรว่าขอให้ท่านมีแต่ความสุข นั่นคือ ให้พ้นจากทุกข์ ให้สุขสบาย ให้โอกาสเกิดขึ้นได้ง่าย ก็ได้เช่นกัน
"พละ"
แปลตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ว่า
- กำลัง
มักใช้ประกอบคำอื่น เช่น พระทศพล อันเป็นพระนามพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงมีพระญาณอันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ มีฐานาฐานญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและสิ่งที่มิใช่ฐานะเป็นต้น
- ทหาร เช่น กองพล ตรวจพล ยกพลขึ้นบก
มีรากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ)
แปลตามศัพท์ได้ว่า
- เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้
- ผู้เฝ้าระวัง
- ผู้ครอบงำศัตรู
ดังนั้น เวลาพระให้พรว่า "พละ" ไม่ได้หมายความว่าให้ท่านมีพละกำลังอย่างเดียว แต่หมายรวมได้ถึง ให้ท่านเป็นผู้ครอบงำศัตรู มีอำนาจ มีความแข็งแรง มีเหตุที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ ก็ได้เช่นกัน
อ่านมากขึ้น ก็มีความรู้มากขึ้น ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีปัญญาและมีความสุขมากขึ้น
อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ.
ขอขอบคุณเนื้อหาจากเพจของ นายทองย้อย แสงสินชัย
Comments