#ธุดงคสถานมหาวัน #ธรรมะจากป่าใหญ่

พระพุทธเจ้าตรัสในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ว่า
"... ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ..." อริยสัจ คือ ความจริงที่ประเสริฐ ที่รู้แล้วจึงไกลทุกข์ได้ เป็นสิ่งที่ควรรู้รอบอย่างถ่องแท้
วันนี้ เราจะมารู้จัก สภาพของ "ทุกข์" และทุกข์ 10 ประการกันค่ะ
ทุกข์
คือ สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก สภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้ เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้นและความดับสลาย เนื่องจากต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ไม่ขึ้นต่อตัวมันเอง
ยกตัวอย่างเช่น ปวดหลัง (ความไม่สบายกาย) นี้ก็สภาวะทุกข์ คือ ทนอยู่ได้ยาก ทนไม่ได้ มันปวดหลัง ก็ต้องหาหมอนวดมาบำบัด เป็นต้น หรือ เครียด กังวล (ความไม่สบายใจ) นี้ก็ทุกข์ทางใจ เป็นสภาวะที่ทนได้ยาก มันเครียด ต้องหาทางระบายออก
แต่รู้หรือไม่ว่า สุขกาย สุขใจ จริง ๆ ก็มีสภาวะทุกขัง คือ สภาวะที่ทนอยู่ได้ยากไม่ต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่หัวเราะ คุณจะหัวเราะได้นานกี่นาทีโดยไม่หยุด ให้หัวเราะสองสามนาทีนี่พอไหว แต่ถ้าหัวเราะสิบนาทีนี่เริ่มเหนื่อยแล้ว หัวเราะหนึ่งชั่วโมงติดต่อกันนี่คงส่งโรงพยาบาลบ้าแล้วแน่ ๆ
ดังนั้นให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ทุกขตา หรือสภาวะความที่ทนอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ทนได้ยาก ไม่ได้หมายถึงแค่ทุกข์กาย ทุกข์ใจ แม้สุขกาย สุขใจ หรือความรู้สึกเฉย (ไม่สุขไม่ทุกข์) ก็มีสภาวะทุกขตา (สภาวะทุกข์) เช่นเดียวกัน
มีตำรากล่าวไว้ว่า อาจรวมทุกข์ ได้ 10 ประเภท คือ
1. สภาวทุกข์
ทุกข์ประจำสังขาร ทุกข์ที่เป็นเองตามคติแห่งธรรมดา
คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นต้น
2. ปกิณณกทุกข์
ทุกข์เบ็ดเตล็ด ทุกข์เรี่ยราย ทุกข์จร
คือ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ
(บาลีว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส)
3. นิพัทธทุกข์
ทุกข์เนืองนิตย์ ทุกข์ประจำ ทุกข์เป็นเจ้าเรือน
ได้แก่ หนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ
4. พยาธิทุกข์
ทุกข์เพราะโรคต่าง ๆ
5. สันตาปทุกข์
ทุกข์ คือความร้อนรุ่ม
ได้แก่ความกระวนกระวายใจ เพราะถูกไฟกิเลส คือราคะ โทสะ และโมหะ (โลภ โกรธ หลง) แผดเผา
6. วิปากทุกข์
ทุกข์ที่เป็นผลของการกระทำชั่ว
เช่น ฆ่าคน ก็ถูกจำคุก ได้รับความทุกข์ (เห็นผลในชาตินี้) หรือ ตกนรก (เห็นผลในชาติต่อไป)
หรือเกิดวิปฏิสารคือเดือดร้อนใจทุกข์เกิดจากการกระทำเก่าตามมาให้ผล
7. สหคตทุกข์ (วิปริณามทุกข์)
ทุกข์ไปด้วยกัน ทุกข์กำกับ ทุกข์เกิดจากโลกธรรม 8
(มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสุข มีทุกข์ มีคำสรรเสริญ ก็มีคำติฉินนินทา)
ยกตัวอย่างเช่น ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 อาจคิดว่ามีแต่ความสุข แท้ที่จริงกลับมีทุกข์
อาจเพราะกลัวเจ้าหนี้ตามมาทวง ทุกข์เพราะคนมาขอยืมเงิน ทุกข์เพราะกลัวเงินหาย เป็นต้น
8. อาหารปริเยฏฐิทุกข์
ทุกข์เกี่ยวกับการแสวงหาอาหาร ทุกข์ในการหากิน ทุกข์เนื่องด้วยการเลี้ยงชีพ
9. วิวาทมูลกทุกข์
ทุกข์เกิดเพราะการทะเลาะกันเป็นเหตุ
10. ทุกขขันธ์
ทุกข์รวบยอด คือ ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5
ยกตัวอย่างเช่น ยึดมั่นว่าสิ่งไหนเป็นของของฉัน ก็จะทุกข์เพราะสิ่งนั้น
เช่น ถ้าเห็นแมวตายริมถนน ก็อาจรู้สึกเฉย ๆ หรือแค่รู้สึกว่าสงสาร แล้วก็ผ่านเลยไป
แต่ถ้าเป็น แมว "ของฉัน" ตาย ก็จะโศก คร่ำครวญ ร่ำไรรำพัน เป็นต้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ จริง ๆ เราก็มีชีวิตอยู่กับทุกข์นี้แหละ แต่เราอาจไม่รู้ว่ามันคือทุกข์ เลยมักคิดว่า ชีวิตฉันไม่ทุกข์นะ ฉันมีแต่ความสุข
แต่อย่าลืมนะคะว่า ความหิวข้าวนี่ก็ทุกข์นะ การอยากเข้าห้องน้ำนี่ก็ทุกข์นะ
ดังนั้น "ทุกข์" ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัว แค่ควรรู้ให้รอบ และยอมรับความจริงว่า ทุกข์คือส่วนหนึ่งของชีวิต มันเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่มีแต่ "ฉัน" ที่ทุกข์ คนอื่นไม่ทุกข์หรอก
พอเข้าใจ และยอมรับเรื่องนี้ได้ ก็จะอยู่อย่าง "ปกติ"
ยอมรับ และ ปล่อยวาง
ว่ามันก็เป็นความจริงของชีวิต
เหมือนกับเรื่อง ปกิณณกทุกข์ หรือทุกข์จร
คำว่า "จร" ก็คือ ไม่เป็นประจำ มาแว้บ ๆ เดี๋ยว ๆ temporary เป็นแขก หรือ visitor
แต่เรามักจะคิดว่า ความเศร้าโศก เป็นสิ่งที่อยู่กับฉันตลอดเวลา เอาออกไม่ได้เลย
ความจริงคือ ความโศก ร่ำไรรำพัน ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ เป็นเพียงแขกที่มาเยือน เพียงแค่คุณจะเปิดรับเขามาอยู่ที่ใจหรือไม่ และให้อยู่นานแค่ไหน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกข์ ควรรู้ให้รอบ
ดังนั้น การศึกษาเรื่องทุกข์ ไม่ได้ทำให้คุณ ทุกข์กว่าเดิม แต่หากศึกษาอย่างถูกต้อง จะทำให้คุณรู้ว่า มันก็คือความจริงของชีวิตนี่นา มันเป็นแบบนี้ มีเหตุเกิดแบบนี้ ไม่มีเหตุเกิดทุกข์มันก็ไม่ทุกข์
และเมื่อเกิดมาแล้ว ย่อมมีทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา
เราก็ทุกข์ เขาก็ทุกข์ ทุกข์เหมือนกันหมด
ดังนั้น เราอยู่ร่วมกันด้วย "เมตตา" ดีกว่าหรือไม่???
รวบรวมข้อมูลจาก
Comments