หลายคนอาจจะได้เคยพระพุทธพจน์ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า...
กิจโฉ มะนุสสะปะฏิลาโภ กิจฉัง มัจจานะ ชีวิตัง กิจฉัง สัทธัมมัสสะวะนัง กิจโฉ พุทธานะมุปปาโท.

คุณเข้าใจพระพุทธพจน์นี้มากแค่ไหน และรู้หรือไม่ว่าเหตุอันใด ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสเช่นนี้
วันนี้ เราจะมาศึกษาไปพร้อม ๆ กันค่ะ
นี้เป็นคาถาที่พระพุทธเจ้าตรัสกับนาคราชที่ชื่อว่า เอรกปัตตะ
ในสมัยที่พระองค์ทรงอาศัยนครพาราณสี ประทับอยู่ที่โคนไม้ซีก ๗ ต้น
ความว่า...
ในศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลก่อน พญานาคตนนี้ (ที่ชื่อ เอรกปัตตะ) เคยเป็นภิกษุหนุ่มมาก่อน มีอยู่วันหนึ่ง ขึ้นเรือไปในแม่น้ำคงคา เกิดความคะนองมือ เอามือระน้ำเวลาที่เรือแล่น ทำให้มือไปเกี่ยวติดกับใบตะไคร้น้ำกอหนึ่ง เมื่อเรือแม้แล่นไปโดยเร็ว ก็ไม่ปล่อย ทำให้ใบตะไคร้น้ำขาดติดภิกษุรูปนั้นมาด้วย
(พรากพืชคาม ถือว่าเป็นอาบัติปาจิตตีย์ https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=02&i=354)
ภิกษุหนุ่มนั้นไม่แสดงอาบัติ คิดว่า "นี้เป็นโทษเพียงเล็กน้อย" แม้ภิกษุรูปนี้ได้ทำสมณธรรม (ธรรมของสมณะคือผู้สงบ) ในป่าเป็นเวลาราว ๒ หมื่นปี ในตอนที่ท่านมรณภาพ กลับมีจิตคิดย้อนถึงอาบัติที่ได้ทำไว้แล้ว แต่เมื่ออยากจะแสดงอาบัติ กลับไม่เห็นภิกษุอื่นอยู่ใกล้ จึงเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจว่า เรามีศีลที่ไม่บริสุทธิ์
ด้วยความที่จิตก่อนตายติดอยู่ในความรู้สึกที่ว่า มีศีลไม่บริสุทธิ์ ทำให้ตายไปจึงไปเกิดเป็นพญานาค
ในขณะที่เกิดมาได้อัตภาพเป็นพญานาคแล้วนั้น จึงได้เกิดความเดือดร้อนใจอีกว่า "เราทำสมณธรรมตลอดกาลชื่อมีประมาณเท่านี้ (ราว ๒ หมื่นปี) เป็นผู้บังเกิดในที่มีกบเป็นอาหาร ในกำเนิดแห่งอเหตุกสัตว์
(อเหตุกสัตว์ คือ อะไร?
ในอภิธรรมมีอธิบายว่า อเหตุกบุคคล แบ่งเป็น ๒ คือ ที่เกิดในทุคคติ (ที่ไม่สบาย) กับสุคติ (ที่สบาย)
- ทุคคติอเหตุกบุคคล ๑ ได้แก่ บุคคลในอบายภูมิ คือ สัตว์นรก, เปรต, อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน ซึ่งปฏิสนธิด้วย อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ดวง
- สุคติอเหตุกบุคคล ๑ ได้แก่ มนุษย์หูหนวก ตาบอด เป็นบ้า เป็นใบ้ พิกลพิการต่าง ๆ และเทวดาบาง
จำพวกในชั้นจาตุมหาราชิกา ๑ สัตว์ใน ๒ ภูมินี้ ปฏิสนธิด้วย อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ดวง)
พญานาคเอรกปัตตะ จึงคิดอย่างนี้ว่า
"เมื่อพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น เราจักได้ยินความที่พระพุทธเจ้านั้นบังเกิดขึ้น ด้วยอุบายนี้แน่ละ
ผู้ใดนำเพลงขับ แก้เพลงขับของเราได้ เราจักให้ธิดากับด้วยนาคพิภพอันใหญ่แก่ผู้นั้น"
ว่าแล้ว พญานาคก็วางธิดานั้นไว้บนพังพาน ในวันอุโบสถทุกกึ่งเดือน.
ธิดานั้นยืนฟ้อนอยู่บนพังพานนั้น ขับเพลงขับนี้ว่า
ผู้เป็นใหญ่อย่างไรเล่า ชื่อว่าพระราชา?
อย่างไรเล่า พระราชาชื่อว่ามีธุลีบนพระเศียร?
อย่างไรเล่า ชื่อว่าปราศจากธุลี?
อย่างไรท่านจึงเรียกว่า คนพาล?
ชาวชมพูทวีปเมื่อได้ยินเรื่องราวนี้ ก็มาเพื่อดูธิดาพญานาค ต่างหวังกันว่า "เราจะพาเอานางนาคมาณวิกานี้ล่ะ" แล้วทำเพลงขับแก้ แต่นานกว่า หนึ่งพุทธันดร ก็ยังไม่มีใครแก้ปัญหาได้
(พุทธันดร คือ ช่วงเวลาที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นไป และพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ยังไม่อุบัติ)
จนพระศาสดาทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก วันหนึ่งเวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูโลก ทรงเห็นมาณพชื่อ อุตตระ เข้าไปภายในข่าย คือพระญาณของพระองค์ ทรงใคร่ครวญดูว่า "จักมีเหตุอะไร?"
ได้ทรงเห็นแล้วว่า
"วันนี้เป็นวันที่เอรกปัตตนาคราช ทำธิดาไว้บนพังพานแล้วให้ฟ้อน อุตตรมาณพนี้เรียนเอาเพลงขับแก้ที่เราให้แล้ว จักเป็นโสดาบัน เรียนเอาเพลงขับนั้นไปสู่สำนักของนาคราชนั้น นาคราชนั้นฟังเพลงขับแก้นั้นแล้ว จักทราบว่า ‘พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว’ จักมาสู่สำนักของเรา เมื่อนาคราชนั้นมาแล้ว เราจักกล่าวคาถาในสมาคมอันใหญ่ ในกาลจบคาถา สัตว์ประมาณ ๘ หมื่น ๔ พันจักตรัสรู้ธรรม"
ด้วยเหตุนี้ พระศาสดาจึงเสด็จไปในที่นั้น ประทับนั่ง ณ โคนต้นซีกต้นหนึ่ง
พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นอุตตรมาณพกำลังไปในที่ไม่ไกล จึงถามว่า "เธอจะไปไหน"
อุตตรมาณพกล่าวตอบว่า จะไปขับเพลงยังที่ที่ธิดาของเอรกปัตตนาคราชอยู่
เมื่ออุตตรมาณพ ลองกล่าวเพลงขับแก้ (ตามความรู้ของตน) ให้พระพุทธเจ้าได้สดับ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
"อุตตระ นั่นไม่ใช่เพลงขับแก้ เราจักให้เพลงขับแก้แก่เธอ"
ในตอนนั้น อุตตระจึงเรียนคาถาจากพระพุทธเจ้าว่า...
ผู้เป็นใหญ่ในทวาร ๖ ชื่อว่าเป็นพระราชา
พระราชาผู้กำหนัดอยู่ ชื่อว่ามีธุลีบนพระเศียร
ผู้ไม่กำหนัดอยู่ ชื่อว่าปราศจากธุลี
ผู้กำหนัดอยู่ท่านเรียกว่า คนพาล
อธิบายได้ว่า
- ผู้ใดเป็นผู้ใหญ่แห่งทวาร ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) โดยอารมณ์ทั้ง ๖ (รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย สิ่งที่รู้ทางใจ) ครอบงำไม่ได้ แม้ในทวารหนึ่ง ผู้นี้ชื่อว่าเป็นพระราชา
- พระราชาใดกำหนัดอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น พระราชาผู้กำหนัดอยู่นั้น ชื่อว่ามีธุลีบนพระเศียร
- พระราชาผู้ไม่กำหนัดอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้ปราศจากธุลี
- พระราชาผู้กำหนัดอยู่ ท่านเรียกว่า เป็นคนพาล
พระศาสดา ครั้นประทานเพลงขับแก้แก่อุตตรมาณพนั้นอย่างนี้แล้ว ตรัสว่า "อุตตระ เมื่อเธอขับเพลงขับนี้ (นางธิดานาคราช) จะขับเพลงขับแก้ เพลงขับของเธออย่างนี้ว่า
คนพาลอันอะไรเอ่ย ย่อมพัดไป บัณฑิตย่อม บรรเทาอย่างไร อย่างไร จึงเป็นผู้มีความเกษมจากโยคะ ท่านผู้อันเราถามแล้ว โปรดบอกข้อนั้นแก่เรา
ทีนั้น ท่านพึงขับเพลงขับแก้นี้แก่นางว่า
คนพาลอันห้วงน้ำ (กิเลสดุจห้วงน้ำ ๔ มีห้วงน้ำคือกาม เป็นต้น) ย่อมพัดไป บัณฑิตย่อมบรรเทา (โอฆะ คือห้วงน้ำ นั้น) ด้วยความเพียร บัณฑิตผู้ไม่ประกอบด้วยโยคะทั้งปวง ท่านเรียกว่า ผู้มีความเกษมจากโยคะ
ตอนนี้อุตตรมาณพกำลังเรียนเพลงขับแก้อยู่นั้น เขาก็บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน
หลังจากนั้น อุตตรมาณพได้นำเพลงขับแก้ไปหานางนาคมาณวิกา และกล่าวตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว นาคราชพอฟังคาถานั้น ทราบว่าพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ก็ดีใจว่า "เราไม่เคยฟังชื่อบทเห็นปานนี้ ตลอดพุทธันดรหนึ่ง "ผู้เจริญ พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกแล้วหนอ"
นาคราชนั้นจึงเข้าไปหาอุตตรมาณพ แล้วถามว่าพระศาสดาประทับอยู่ที่ไหน
ว่าแล้วนาคราชได้ไปกับอุตตรมาณพ พร้อมทั้งมหาชนเป็นอันมาก เข้าไปสู่ระหว่างพระรัศมีมีพรรณะ ๖ ถวายบังคัมพระศาสดาแล้ว ได้ยืนร้องไห้อยู่
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะนาคราชนั้นว่า "นี่อะไรกัน? มหาบพิตร."
นาคราช กล่าวว่า
พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้เช่นกับด้วยพระองค์ได้ทำสมณธรรมสิ้น ๒ หมื่นปี แม้สมณธรรมนั้นก็ไม่อาจเพื่อจะช่วยข้าพระองค์ได้
ข้าพระองค์อาศัยเหตุสักว่าให้ใบตะไคร้น้ำขาดไปมีประมาณเล็กน้อย ถือปฏิสนธิในอเหตุกสัตว์ เกิดในที่ที่ต้องเลื้อยไปด้วยอก ย่อมไม่ได้ความเป็นมนุษย์เลย ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เช่นกับด้วยพระองค์ตลอดพุทธันดรหนึ่ง
พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของนาคราชนั้นแล้ว ตรัสว่า
"มหาบพิตร ชื่อว่าความเป็นมนุษย์หาได้ยากนัก การฟังพระสัทธรรม ก็อย่างนั้น การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า ก็หาได้ยากเหมือนกัน เพราะว่าทั้งสามอย่างนี้ บุคคลย่อมได้โดยลำบากยากเย็น"
เมื่อจะทรงแสดงธรรม ตรัสพระคาถานี้ว่า
กิจโฉ มะนุสสะปะฏิลาโภ กิจฉัง มัจจานะ ชีวิตัง กิจฉัง สัทธัมมัสสะวะนัง กิจโฉ พุทธานะมุปปาโท.
ความได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เป็นการยาก
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย เป็นอยู่ยาก
การฟังพระสัทธรรม เป็นของยาก
การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นการยาก
อธิบายได้ว่า
- ความเป็นมนุษย์ บุคคลต้องได้ด้วยความพยายามมาก ด้วยกุศลมาก
- ถึงชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นอยู่ยาก เพราะทำกรรม (ทำงาน) มีกสิกรรมเป็นต้นเนือง ๆ แล้ว
สืบต่อความเป็นไปแห่งชีวิตบ้าง เพราะชีวิตเป็นของน้อยบ้าง
- แม้การฟังพระสัทธรรม ก็เป็นการยาก เพราะบุคคลผู้แสดงธรรมหาได้ยาก
- ถึงการอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้ยากยิ่งนัก เพราะอภินิหารสำเร็จด้วยความพยายาม
มาก หมายถึง กว่าจะบำเพ็ญบารมีจนเป็นพระพุทธเจ้า ต้องใช้ความพยายามมาก เป็นการได้โดย
ยาก ด้วยพันแห่งโกฎิกัป
ในกาลจบเทศนา เหล่าสัตว์ ๘ หมื่น ๔ พันได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว
ฝ่ายนาคราชควรจะได้โสดาปัตติผลในวันนั้น แต่ก็ไม่ได้ เหตุเพราะตนเป็นสัตว์เดรัจฉาน (สัตว์เดรัจฉานจะบรรลุธรรมไม่ได้)
นาคราชนั้นถึงภาวะคือความไม่ลำบากในฐานะทั้ง ๕ กล่าวคือ ๑. การถือปฏิสนธิ ๒. การลอกคราบ ๓. การวางใจแล้วก้าวลงสู่ความหลับ ๔. การเสพเมถุนกับด้วยนางนาคผู้มีชาติเสมอกัน และ ๕. จุติ ที่พวกนาคถือเอาสรีระแห่งนาคนั่นแหละ แล้วลำบากอยู่ ย่อมได้เพื่อเที่ยวไปด้วยรูปแห่งมาณพนั่นแล ดังนี้แล.
เมื่อฟัง / อ่าน เรื่องนี้แล้ว ทำให้เกิดความสลดสังเวชว่า เพียงเพราะคิดว่าอาบัติเล็กน้อย ไม่ยอมปลงอาบัติ จนเมื่อใกล้มรณภาพแต่หาภิกษุเพื่อปลงอาบัติไม่ได้ แม้จะบำเพ็ญเพียรมาถึงสองหมื่นปี แต่เมื่อใกล้จะมรณภาพกลับมีจิตหม่นหมอง คิดว่า ตนเป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ ทำให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน แม้บุญจะมี ทำให้ได้ฟังธรรมของพระศาสดา (หลังจากรอมาหนึ่งพุทธันดร) และมีบุญพอที่ควรจะบรรลุเป็นพระโสดาบันได้ในวันนั้น แต่ก็ยังบรรลุไม่ได้อยู่ดี เหตุเพราะเหตุปัจจัยไม่พร้อม คือได้อัตภาพเป็นสัตว์เดรัจฉานนั่นเอง
นี่แหละค่ะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัส กล่าวโดยสรุปได้ว่า กว่าจะเกิดมาเป็นคนนี่ก็ยาก ชีวิตที่เกิดมาแล้วนี่ก็อยู่ยาก ทุกข์สารพัด แถมกว่าจะได้ฟังพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้ยิ่งยาก แต่การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นการยากมาก ๆ
ดังนั้น จงอย่าใช้ชีวิตด้วยความประมาท คิดดี พูดดี ทำดี ให้สมกับที่ได้อัตภาพเป็นมนุษย์นี้แล้ว
#ธุดงคสถานมหาวัน
#ธรรมะจากป่าใหญ่
Comments