ธมฺมาราโม ธมฺมรโต
ธมฺมํ อนุวิจินฺตยํ
ธมฺมํ อนุสฺสรํ ภิกฺขุ
สทฺธมฺมา น ปริหายติ ฯ
(ขุ.ธ. 25/65)
ผู้เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด
รื่นรมย์ยินดีในธรรม
ใคร่ครวญธรรม
ระลึกถึงธรรมเนือง ๆ
ย่อมไม่เสื่อมจาก พระสัทธรรม

ธุดงคสถาน
ทำไมถึงเป็น
ธุดงค์ มาจากภาษาบาลีว่า
ธุต = กำจัด ขัดเกลา + องฺค = องค์
ธุดงค์ จึงแปลว่า องค์แห่งการขัดเกลา
ธุดงค์ + สถาน จึงแปลว่า สถานที่ขัดเกลา กำจัดกิเลส
หรือ บางคนแปลว่า สถานที่ที่ "สงบ"
คุณสามารถ และคุณนาทนิตย์ สุทธางคกูล มีเจตนาอันเป็นกุศลที่จะสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม แต่แทนที่จะสร้างให้เป็นวัดหรืออาราม ผู้บริจาคกลับคิดที่จะสร้างให้เป็น "ธุดงคสถาน" แทน
ด้วยเหตุที่ว่า ในสมัยก่อน เคยพบเห็นพระอาจารย์ภิกษุณีนันทญาณีเถรี ประธานภิกษุณีสงฆ์องค์แรกแห่งนิโรธาราม เวลาท่านจาริกหรือเดินธุดงค์หลังออกพรรษา (ตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้) ก็จำต้องหาที่จาริก อาจมีความไม่สะดวกหรือลำบากบางประการ จึงตั้งใจสร้างให้สถานที่นี้เป็นสถานที่ให้คณะนักบวชหญิงได้มาธุดงค์ด้วย และเพื่อเป็นสถานที่ที่ "สงบ" หลบหลีกความวุ่นวายภายนอก มาสู่ความสันติภายใน และเพื่อขจัดขัดเกลากิเลส ตามความหมายของคำว่า ธุดงค์ อีกด้วย
มหาวัน
ทำไมถึงชื่อ


เราจะคุ้นเคยกันจากพระไตรปิฎกว่า
"กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี"
ป่ามหาวันเป็นสถานที่จริงในพุทธกาล ปรากฏนามในหลายพระสูตรที่สำคัญ
เช่น มหาสมัยสูตร ที่มีเทวดาบรรลุธรรมนับไม่ถ้วน
หรือ คิลานสูตร ธรรมะสำหรับภิกษุอาพาธ
ป่ามหาวันเป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้
พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี
พระน้านางของพระพุทธองค์พร้อมกับบริวาร
อุปสมบทเป็นภิกษุณี ครั้งแรกในโลก
และที่ป่ามหาวันนี้เอง
ที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาสุดท้าย
และเป็นที่ตั้งของเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช
ที่สมบูรณ์ที่สุดจากเสาหินทั้งหมดที่ค้นพบ
การบัญญัตินามสถานที่นี้ว่า "มหาวัน"
เพื่อรำลึกถึงการเริ่มต้นของภิกษุณี
เพื่อการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
และเพื่อสร้างป่าใหญ่
ให้สถานที่นี้... ร่มรื่น
เหมาะแก่การ รื่นรมย์ ในธรรม ท่ามกลางธรรมชาติ
และเรียนรู้ ธรรมะจากป่าใหญ่